วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ประเพณีกินผัก



ช่วงเวลา ประกอบพิธี ๙ วัน ตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน (ตรงกับเดือน ๑๑ ของไทย)

ความสำคัญ
กินผักภาษาจีนเรียกว่า "เก้าอ็วงเจ" หรือ "กิวอ็วงเจ" เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของคนไทยที่มีเชื้อสายจีนทางฝั่งทะเลตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดพังงาในเขตอำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง แต่เดิมผู้คนกินผักมักมีเชื้อสายฮกเกี้ยน แต่ในปัจจุบันแพร่หลายไปยังกลุ่มอื่น ๆ
ด้านคุณค่าของพิธีกินผักนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยสะเดาะเคราะห์ ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ หรือโรคร้ายจากตัวผู้กินผัก แล้วยังเป็นการแสดงออกถึงการเคารพบรรพบุรุษ และเป็นการฝึกจิตใจของผู้กินผักให้บริสุทธิ์ ได้รักษาศีลอีกทั้งยังเหมาะกับสภาพสังคมในปัจจุบันด้วย เพราะเป็นช่วงที่ได้ประหยัดการใช้จ่าย งดการเที่ยวเตร่ อาหารผักก็ราคาถูกกว่า และสุดท้ายยังก่อให้เกิดความสามัคคี เพราะว่าผู้ที่ร่วมกินเจไม่ว่าคนร่ำรวยหรือคนจนจะไปร่วมในพิธีกันอย่างพร้อมเพรียงด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ทักทายกันด้วยดี ด้วยเหตุนี้จำนวนผู้ที่เข้าร่วมกินผัก อย่างเช่น ในจังหวัดพังงาจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี อันแสดงให้เห็นว่าประเพณีกินผักจะคงอยู่สืบทอดต่อไปอีกนาน






ประเพณีการถือศีลกินเจ



ช่วงเวลา
การถือศีลกินเจของชาวตรังตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน (ตรงกับเดือน ๑๑ ของไทย ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมทุกปี) โรงศาลเจ้าทุกโรงจะกำหนดการกินเจพร้อมกัน การประกอบพิธีกรรมจะใช้สถานที่บริเวณโรงศาลเจ้าของแต่ละแห่ง

ความสำคัญ
พิธีถือศีลกินเจจะเป็นพิธีที่มีความสำคัญดังนี้
๑. เป็นการบำเพ็ญศีล สมาทานกินเจ บริโภคแต่อาหารผักและผลไม้ เป็นการละเว้นการทำบาป ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รักษาศีลทำจิตใจให้บริสุทธิ์ งดการเที่ยวเตร่ ไม่ดื่มของมึนเมา ผู้ศรัทธาที่กินเจจะสวมเสื้อผ้าสีขาวและสวดมนต์ทำสมาธิภาวนาแผ่เมตตาจิต ขอพรให้ตนเองและครอบครัว
๒. เป็นการสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าความชั่วร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากตัวผู้ที่ถือศีลกินเจ
๓. เกิดความสามัคคีในหมู่ผู้ที่ศรัทธาที่เข้าร่วมพิธีถือศีลกินเจ ต่างก็ยิ้มแย้มเป็นมิตรมีไมตรีต่อกัน มีการบริจาคทรัพย์สำหรับเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในโรงครัว เพื่อให้มีอาหารเพียงพอ มีอาสาสมัครมาช่วยงานทำงานครัวเป็นจำนวนมาก




ประเพณีตักบาตรธูปเทียน





ช่วงเวลา ระยะเวลาของการประกอบพิธีตักบาตรธูปเทียนมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนแปด เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา ใช้ลานภายในวัดเป็นสถานที่ตักบาตรธูปเทียน

ความสำคัญ
เป็นการทำบุญด้วยธูปเทียนและดอกไม้ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาเพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษา ได้นำธูปเทียนใช้บูชาพระรัตนตรัยตลอดพรรษา ๓ เดือน

พิธีกรรม
วันประกอบพิธีตักบาตรธูปเทียน เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มพิธีเข้าพรรษา พิธีการตักบาตรธูปเทียนจึงเริ่มในตอนบ่าย โดยพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ต่างพากันมายืนเรียงแถวในบริเวณลานวัด โดยมีย่ามคล้องแขนทุกรูป เพื่อเตรียมบิณฑบาต เมื่อถึงเวลาบ่ายประมาณ ๑๖ นาฬิกา พุทธศาสนิกชนจะนำธูปเทียน ไม้ขีดไฟ และดอกไม้ มาใส่ย่ามถวายพระสงฆ์เป็นอันเสร็จพิธี




ประเพณีการแข่งเรือกอและ

    
     ช่วงเวลา ประเพณีการแข่งเรือกอและและเรือยาวด้วยฝีพายหน้าพระที่นั่ง ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ กันยายน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

ความสำคัญ
ในการเสด็จแปรพระราชฐานทุกครั้งจะทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงทุกหมู่เหล่า ทรงวางโครงการน้อยใหญ่เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีความสงบสุขร่มเย็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯประชาชนชาวจังหวัดนราธิวาสต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรจัดให้มีการแข่งขันเรือกอและอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวจังหวัดนราธิวาสถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นและเป็นการฟื้นฟูประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย หน้าพระที่นั่ง และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดการแข่งขันเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ อีกทั้งได้พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ทีมเรือที่ชนะการแข่งขันด้วย







งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ


ช่วงเวลา เริ่มงานวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) ของทุกปี

ความสำคัญ
งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะการขึ้นโขนชิงธง ที่นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรงเพื่อให้นายหัวเรือคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัย โดยการขึ้นโขนเรือ

พิธีกรรม
การแข่งเรือของอำเภอหลังสวนเริ่มมีครั้งแรกในสมัยพระยาจรูญราชโภคากร เป็นเจ้าเมืองหลังสวน เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นการลากพระชิงสายกันในแม่น้ำ โดยใช้เรือพายเป็นเรือดึงลากแย่งกัน วัด หรือหมู่บ้านใดมีเรือมากฝีพายดี ก็แย่งพระไปได้ อัญเชิญพระไปประดิษฐานไว้ในวัดที่ตนต้องการ มีงานสมโภชอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืน รุ่งเช้าถวายสลากภัต
ต่อมาสมัยหลวงปราณีประชาชน อำมาตย์เอก ได้ดัดแปลงให้มีสัญญาณในการปล่อยเรือโดยใช้เชือกผูกหางเรือคู่ที่จะแข่ง ให้เรือถูกพายไปจนตึงแล้วใช้มีดสับเชือกที่ผูกไว้ให้ขาด
ลักษณะของเรือที่ใช้แข่งในปัจจุบันขุดจากไม้ซุง (ตะเคียน) ทั้งต้น ยาวประมาณ ๑๘-๑๙ เมตร มีธงประจำเรือติดอยู่ เรือแข่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ฝีพาย ๓๐ คน และฝีพาย ๓๒ คน ฝีพายจะนั่งกันเป็นคู่ ยกเว้นนายหัวกับนายท้าย เรือแต่ละลำจะมีฆ้องหรือนกหวีดเพื่อตีหรือเป่าให้จังหวะฝีพายได้พายอย่างพร้อมเพรียงกัน
รางวัลสำหรับการแข่งขันในสมัยก่อน เรือที่ชนะจะได้รับผ้าแถบหัวเรือ ส่วนฝีพายจะได้รับผ้าขาวม้าคนละผืน ต่อมาเป็นการแข่งขันชิงน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปถวายวัด เพราะเรือส่วนใหญ่เป็นเรือของวัด และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา เป็นการแข่งขันเพื่อชิงโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กติกาการปล่อยเรือและการเข้าเส้นชัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ เช่น ในปัจจุบันมีการแบ่งสายน้ำโดยการจับสลาก กำหนดระยะทางที่แน่นอน คือ ๕๐๐ เมตร มีเรือเข้าร่วมแข่งขันทั้งเรือในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรเอง และเรือจากต่างจังหวัด สถานที่คือวัดด่านประชากร

สาระ
แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงที่แสดงออกในรูปของการกีฬา และเป็นการสืบทอดประเพณีอันยาวนานของท้องถิ่น

ประเพณีชิงเปรต




ช่วงเวลา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

ความสำคัญ
"ชิงเปรต" เป็นประเพณีของภาคใต้ที่กระทำกันในวันสารท เดือน ๑๐ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือน ๑๐ นี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี(เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย
ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหลานลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น




ประเพณีการแข่งโพน


 

ช่วงเวลา ปลายเดือนสิบ ก่อนประเพณีชักพระ

ความสำคัญ
วัดต่าง ๆ เตรียมทำบุษบก หุ้มโพน และเริ่มการคุมโพนเพื่อเป็นการประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่า ทางวัดจะจัดให้มีการชักพระ ต่อมามีการโต้เถียงเกี่ยวกับเสียงโพน จึงคิดเล่นสนุกสนานมากขึ้น มีการท้าพนันกันบ้างว่า ผู้ตีโพนคนใดเรี่ยวแรงดีที่สุด ลีลาท่าทางการตีดีที่สุด โพนวัดใดเสียงดังมากที่สุด จึงมีการแข่งขันตีโพนกันขึ้น ในระยะ แรก ๆ เข้าใจว่า คงตีแข่งขันภายในวัดและค่อยขยายออกมาภายนอกวัด เพิ่มจำนวนโพนขึ้น จัดประเภทและมีกติกามากขึ้น การคิดเล่นสนุกสนานเหล่านี้ ทำให้มีการแข่งโพนกันอย่างกว้างขวางในระยะหลัง และกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สืบต่อกันมา ปัจจุบันการแข่งโพนเป็น กิจกรรมการละเล่นที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง

พิธีกรรม
การแข่งโพนแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ
๑. แข่งมือ ตัดสินให้ผู้ตีที่มีกำลังมือดีกว่าเป็นฝ่ายชนะ โดยให้ตีจนผู้ใดอ่อนล้าก่อนเป็นฝ่ายแพ้ ปัจจุบันไม่นิยมเพราะทำให้เสียเวลามาก
๒. แข่งเสียง ตัดสินให้โพนที่มีเสียงดังกว่าเป็นฝ่ายชนะ การแข่งขันจะเป็นแบบพบกันหมดหรือแพ้คัดออกก็ได้ จับสลากแข่งขันเป็นคู่ ๆ ใช้ผู้ตีฝ่ายละ ๑ คน กรรมการ ๓ - ๕ คน ตัดสินให้คะแนน โดยอยู่ห่างจากสถานที่ตีไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ณ สถานที่ตี กรรมการควบคุมการตีและคุมเวลา เรียกคู่โพนเข้าประจำที่ ลองตีก่อนฝ่ายละประมาณ ๓๐ วินาที เพื่อดูว่าโพนฝ่ายใดมีเสียงทุ้ม และโพนฝ่ายใดมีเสียงแหลม จากนั้นเริ่มให้ทั้งคู่ตีพร้อมกันภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยมากจะใช้เวลา ๑๐ - ๑๕ นาที ขณะที่โพนกำลังตีแข่งขันอยู่นั้น กรรมการฟังเสียงทั้งหมดจะตั้งใจฟังเสียงโพนแล้วตัดสินให้โพนที่มีเสียงดังกว่าเป็นฝ่ายชนะ โดยถือเอาเสียงข้างมากของกรรมการเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน





ประเพณีวันสารทเดือน ๑๐

      
       ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ ของประเทศไทย โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อซึ่งมาจากทางศาสนาพราหมณ์โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเข้ามาในภายหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
    ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบจะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปีแต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะ นิยมทำบุญกันมากคือวันแรม 13-15 ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบโดยในส่วนใหญ่แล้วจะตรงกับเดือนกันยายน
                            

ประเพณี อาบน้ำคนแก่

    
ช่วงเวลา ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เดือนเมษายน (เดือน ๕) ของทุกปี ซึ่งจะเลือกทำวันไหนก็ได้ จะเป็นตอนเช้า หรือตอนบ่ายเป็นไปตามการนัดหมายของแต่ละครอบครัว แต่ละบ้านโดยนัดหมายสถานที่และวันเวลาไว้ล่วงหน้าเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจเป็นที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ตามความเหมาะสม
  • ความสำคัญ
ประเพณีอาบน้ำคนแก่เป็นวิธีการแสดงออกซึ่งความเคารพนับถือ แก่บิดามารดา และญาติคนแก่ (ผู้อาวุโส) ของตระกูล รวมทั้งผู้มีพระคุณและบุคคลที่ตนเคารพนับถือ
  • พิธีกรรม
๑. การขอขมา
เมื่อเชิญคนแก่ทั้งหลายนั่งในโรงพิธีเรียบร้อยแล้ว ลูกหลานและชาวบ้านที่มาร่วมพิธี จะรวมกลุ่มยืนอยู่ด้านหน้าของคนแก่ทั้งหลาย ผู้นำในพิธีนำดอกไม้และจุดธูปเทียนพนมมือ แล้วกล่าวขอขมา ทุกคนว่าตามดังนี้
"กายกรรมสาม วจีกรรมสี่ มโนกรรมสาม หากข้าพเจ้าทั้งหลายเกิดประมาทพลาดพลั้งแก่ท่าน ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ไม่เจตนาก็ดี ขอให้ท่านอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด และขอได้โปรดอำนวยพรให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย มีความสุขความเจริญตลอดไป และขอตั้งจิตอธิษฐานขอให้ท่านเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดไป
๒. พิธีการอาบน้ำ
การอาบน้ำเป็นการตักน้ำมารดอาบให้คนแก่จนเปียกโชกทั้งตัว ปัจจุบันบางหมู่บ้านได้ปรับเปลี่ยนวิธีการในการอาบน้ำ มารดน้ำที่มือทั้งสองของคนแก่แทนเพราะคนแก่ที่มีอายุมาก มีลูกหลานและผู้ที่เคารพนับถือมาก พิธีการอาบน้ำต้องใช้เวลานานจึงแล้วเสร็จ คนแก่เหล่านั้นอาจรู้สึกหนาวสะท้าน ซึ่งเป็นเหตุให้เจ็บป่วยเป็นไข้ได้
ลูกหลานจะเข้าแถวตักน้ำที่เตรียมไว้ในโอ่ง มารดที่มือหรือที่ตัวคนแก่ และมอบเครื่องนุ่งห่มเครื่องใช้ให้คนแก่พร้อมกับขอพร คนแก่ก็จะให้พรลูกหลาน การอาบน้ำจะทำไปตามลำดับจนครบทุกคน
เมื่อเสร็จพิธี ลูกหลานจะนำเสื้อผ้าชุดใหม่มาผลัดเปลี่ยนให้คนแก่ ทาแป้ง หวีผม แต่งตัวให้ เป็นอันเสร็จพิธีการอาบน้ำ
  • สาระ
ประเพณีอาบน้ำคนแก่ เป็นภูมิปัญญาในการเชื่อมสายใยของครอบครัวให้สาระสำคัญหลายประการคือ
๑. เป็นประเพณีที่มีบทบาทในการควบคุมคนในสังคมให้วางตนให้เหมาะสมตามฐานะของคน คือเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเป็น ผู้ใหญ่ที่ดีเพื่อให้คนเคารพนับถือ เมื่อเป็นผู้น้อยก็ต้องแสดงความเคารพ และมีความกตัญญูต่อผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ
๒. เป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งได้แก่ คนแก่ในตระกูล บิดามารดา ตลอดจนผู้ที่ตนเคารพนับถือทั้งหลาย
๓. เกิดความผูกพันในวงศาคณาญาติ สร้างความสนิทสนมกลมเกลียวรักใคร่กันในตระกูลยิ่งขึ้น การพบปะกันในระหว่างญาติพี่น้อง สร้างความอบอุ่นปลาบปลื้มใจให้แก่คนแก่ของตระกูลที่ได้เห็นความเป็นปึกแผ่น ของลูกหลาน
                                                           ประเพณี อาบน้ำคนแก่

ประเพณีภาคใต้

      
       ภาคใต้นั้นเป็นภาคที่มีความสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นปึกแผ่นของไทยซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีการโปรโมตให้เห็นความสำคัญของภาคใตอย่างกว้างขวาง
       เนื่องด้วยความรักและห่วงใยของในหลวงและปวงชนในประเทศจึงทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆที่ต้องการส่งความรู้สึกไปถึงชาวใต้มากมาย
      ในการพูดถึงประเพณีของภาคใต้ในใครงงานนี้ก็อเป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน
ทำให้ข้าพเจ้ามีความสนใจที่จะดำเนินงานในหัวข้อประเพณีทางภาคใต้มากขึ้นเมื่อพูดถึงภาคใต้นั้นจะพบว่ามีทั้งประเพณีดั้งเดิมที่ยังอยู่และหายไปไม่ต่างอะไรจากทุกภูมิภาคเช่นเดียวกันกับการที่คนไทยหรือเยาวชนในรุ่นนี้จำเป็นต้องช่วยกันรักและหวงแหนในความเป็นสมบัติของชาติไทยไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคไหนๆก็ตามอันเป็นจุดมุ่งหมายในการทำเรื่องประเพณีไทย