วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ประเพณีกินผัก



ช่วงเวลา ประกอบพิธี ๙ วัน ตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน (ตรงกับเดือน ๑๑ ของไทย)

ความสำคัญ
กินผักภาษาจีนเรียกว่า "เก้าอ็วงเจ" หรือ "กิวอ็วงเจ" เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของคนไทยที่มีเชื้อสายจีนทางฝั่งทะเลตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดพังงาในเขตอำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง แต่เดิมผู้คนกินผักมักมีเชื้อสายฮกเกี้ยน แต่ในปัจจุบันแพร่หลายไปยังกลุ่มอื่น ๆ
ด้านคุณค่าของพิธีกินผักนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยสะเดาะเคราะห์ ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ หรือโรคร้ายจากตัวผู้กินผัก แล้วยังเป็นการแสดงออกถึงการเคารพบรรพบุรุษ และเป็นการฝึกจิตใจของผู้กินผักให้บริสุทธิ์ ได้รักษาศีลอีกทั้งยังเหมาะกับสภาพสังคมในปัจจุบันด้วย เพราะเป็นช่วงที่ได้ประหยัดการใช้จ่าย งดการเที่ยวเตร่ อาหารผักก็ราคาถูกกว่า และสุดท้ายยังก่อให้เกิดความสามัคคี เพราะว่าผู้ที่ร่วมกินเจไม่ว่าคนร่ำรวยหรือคนจนจะไปร่วมในพิธีกันอย่างพร้อมเพรียงด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ทักทายกันด้วยดี ด้วยเหตุนี้จำนวนผู้ที่เข้าร่วมกินผัก อย่างเช่น ในจังหวัดพังงาจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี อันแสดงให้เห็นว่าประเพณีกินผักจะคงอยู่สืบทอดต่อไปอีกนาน






ประเพณีการถือศีลกินเจ



ช่วงเวลา
การถือศีลกินเจของชาวตรังตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน (ตรงกับเดือน ๑๑ ของไทย ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมทุกปี) โรงศาลเจ้าทุกโรงจะกำหนดการกินเจพร้อมกัน การประกอบพิธีกรรมจะใช้สถานที่บริเวณโรงศาลเจ้าของแต่ละแห่ง

ความสำคัญ
พิธีถือศีลกินเจจะเป็นพิธีที่มีความสำคัญดังนี้
๑. เป็นการบำเพ็ญศีล สมาทานกินเจ บริโภคแต่อาหารผักและผลไม้ เป็นการละเว้นการทำบาป ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รักษาศีลทำจิตใจให้บริสุทธิ์ งดการเที่ยวเตร่ ไม่ดื่มของมึนเมา ผู้ศรัทธาที่กินเจจะสวมเสื้อผ้าสีขาวและสวดมนต์ทำสมาธิภาวนาแผ่เมตตาจิต ขอพรให้ตนเองและครอบครัว
๒. เป็นการสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าความชั่วร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากตัวผู้ที่ถือศีลกินเจ
๓. เกิดความสามัคคีในหมู่ผู้ที่ศรัทธาที่เข้าร่วมพิธีถือศีลกินเจ ต่างก็ยิ้มแย้มเป็นมิตรมีไมตรีต่อกัน มีการบริจาคทรัพย์สำหรับเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในโรงครัว เพื่อให้มีอาหารเพียงพอ มีอาสาสมัครมาช่วยงานทำงานครัวเป็นจำนวนมาก




ประเพณีตักบาตรธูปเทียน





ช่วงเวลา ระยะเวลาของการประกอบพิธีตักบาตรธูปเทียนมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนแปด เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา ใช้ลานภายในวัดเป็นสถานที่ตักบาตรธูปเทียน

ความสำคัญ
เป็นการทำบุญด้วยธูปเทียนและดอกไม้ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาเพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษา ได้นำธูปเทียนใช้บูชาพระรัตนตรัยตลอดพรรษา ๓ เดือน

พิธีกรรม
วันประกอบพิธีตักบาตรธูปเทียน เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มพิธีเข้าพรรษา พิธีการตักบาตรธูปเทียนจึงเริ่มในตอนบ่าย โดยพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ต่างพากันมายืนเรียงแถวในบริเวณลานวัด โดยมีย่ามคล้องแขนทุกรูป เพื่อเตรียมบิณฑบาต เมื่อถึงเวลาบ่ายประมาณ ๑๖ นาฬิกา พุทธศาสนิกชนจะนำธูปเทียน ไม้ขีดไฟ และดอกไม้ มาใส่ย่ามถวายพระสงฆ์เป็นอันเสร็จพิธี




ประเพณีการแข่งเรือกอและ

    
     ช่วงเวลา ประเพณีการแข่งเรือกอและและเรือยาวด้วยฝีพายหน้าพระที่นั่ง ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ กันยายน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

ความสำคัญ
ในการเสด็จแปรพระราชฐานทุกครั้งจะทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงทุกหมู่เหล่า ทรงวางโครงการน้อยใหญ่เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีความสงบสุขร่มเย็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯประชาชนชาวจังหวัดนราธิวาสต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรจัดให้มีการแข่งขันเรือกอและอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวจังหวัดนราธิวาสถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นและเป็นการฟื้นฟูประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย หน้าพระที่นั่ง และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดการแข่งขันเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ อีกทั้งได้พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ทีมเรือที่ชนะการแข่งขันด้วย







งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ


ช่วงเวลา เริ่มงานวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) ของทุกปี

ความสำคัญ
งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะการขึ้นโขนชิงธง ที่นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรงเพื่อให้นายหัวเรือคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัย โดยการขึ้นโขนเรือ

พิธีกรรม
การแข่งเรือของอำเภอหลังสวนเริ่มมีครั้งแรกในสมัยพระยาจรูญราชโภคากร เป็นเจ้าเมืองหลังสวน เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นการลากพระชิงสายกันในแม่น้ำ โดยใช้เรือพายเป็นเรือดึงลากแย่งกัน วัด หรือหมู่บ้านใดมีเรือมากฝีพายดี ก็แย่งพระไปได้ อัญเชิญพระไปประดิษฐานไว้ในวัดที่ตนต้องการ มีงานสมโภชอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืน รุ่งเช้าถวายสลากภัต
ต่อมาสมัยหลวงปราณีประชาชน อำมาตย์เอก ได้ดัดแปลงให้มีสัญญาณในการปล่อยเรือโดยใช้เชือกผูกหางเรือคู่ที่จะแข่ง ให้เรือถูกพายไปจนตึงแล้วใช้มีดสับเชือกที่ผูกไว้ให้ขาด
ลักษณะของเรือที่ใช้แข่งในปัจจุบันขุดจากไม้ซุง (ตะเคียน) ทั้งต้น ยาวประมาณ ๑๘-๑๙ เมตร มีธงประจำเรือติดอยู่ เรือแข่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ฝีพาย ๓๐ คน และฝีพาย ๓๒ คน ฝีพายจะนั่งกันเป็นคู่ ยกเว้นนายหัวกับนายท้าย เรือแต่ละลำจะมีฆ้องหรือนกหวีดเพื่อตีหรือเป่าให้จังหวะฝีพายได้พายอย่างพร้อมเพรียงกัน
รางวัลสำหรับการแข่งขันในสมัยก่อน เรือที่ชนะจะได้รับผ้าแถบหัวเรือ ส่วนฝีพายจะได้รับผ้าขาวม้าคนละผืน ต่อมาเป็นการแข่งขันชิงน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปถวายวัด เพราะเรือส่วนใหญ่เป็นเรือของวัด และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา เป็นการแข่งขันเพื่อชิงโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กติกาการปล่อยเรือและการเข้าเส้นชัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ เช่น ในปัจจุบันมีการแบ่งสายน้ำโดยการจับสลาก กำหนดระยะทางที่แน่นอน คือ ๕๐๐ เมตร มีเรือเข้าร่วมแข่งขันทั้งเรือในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรเอง และเรือจากต่างจังหวัด สถานที่คือวัดด่านประชากร

สาระ
แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงที่แสดงออกในรูปของการกีฬา และเป็นการสืบทอดประเพณีอันยาวนานของท้องถิ่น

ประเพณีชิงเปรต




ช่วงเวลา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

ความสำคัญ
"ชิงเปรต" เป็นประเพณีของภาคใต้ที่กระทำกันในวันสารท เดือน ๑๐ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือน ๑๐ นี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี(เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย
ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหลานลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น




ประเพณีการแข่งโพน


 

ช่วงเวลา ปลายเดือนสิบ ก่อนประเพณีชักพระ

ความสำคัญ
วัดต่าง ๆ เตรียมทำบุษบก หุ้มโพน และเริ่มการคุมโพนเพื่อเป็นการประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่า ทางวัดจะจัดให้มีการชักพระ ต่อมามีการโต้เถียงเกี่ยวกับเสียงโพน จึงคิดเล่นสนุกสนานมากขึ้น มีการท้าพนันกันบ้างว่า ผู้ตีโพนคนใดเรี่ยวแรงดีที่สุด ลีลาท่าทางการตีดีที่สุด โพนวัดใดเสียงดังมากที่สุด จึงมีการแข่งขันตีโพนกันขึ้น ในระยะ แรก ๆ เข้าใจว่า คงตีแข่งขันภายในวัดและค่อยขยายออกมาภายนอกวัด เพิ่มจำนวนโพนขึ้น จัดประเภทและมีกติกามากขึ้น การคิดเล่นสนุกสนานเหล่านี้ ทำให้มีการแข่งโพนกันอย่างกว้างขวางในระยะหลัง และกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สืบต่อกันมา ปัจจุบันการแข่งโพนเป็น กิจกรรมการละเล่นที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง

พิธีกรรม
การแข่งโพนแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ
๑. แข่งมือ ตัดสินให้ผู้ตีที่มีกำลังมือดีกว่าเป็นฝ่ายชนะ โดยให้ตีจนผู้ใดอ่อนล้าก่อนเป็นฝ่ายแพ้ ปัจจุบันไม่นิยมเพราะทำให้เสียเวลามาก
๒. แข่งเสียง ตัดสินให้โพนที่มีเสียงดังกว่าเป็นฝ่ายชนะ การแข่งขันจะเป็นแบบพบกันหมดหรือแพ้คัดออกก็ได้ จับสลากแข่งขันเป็นคู่ ๆ ใช้ผู้ตีฝ่ายละ ๑ คน กรรมการ ๓ - ๕ คน ตัดสินให้คะแนน โดยอยู่ห่างจากสถานที่ตีไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ณ สถานที่ตี กรรมการควบคุมการตีและคุมเวลา เรียกคู่โพนเข้าประจำที่ ลองตีก่อนฝ่ายละประมาณ ๓๐ วินาที เพื่อดูว่าโพนฝ่ายใดมีเสียงทุ้ม และโพนฝ่ายใดมีเสียงแหลม จากนั้นเริ่มให้ทั้งคู่ตีพร้อมกันภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยมากจะใช้เวลา ๑๐ - ๑๕ นาที ขณะที่โพนกำลังตีแข่งขันอยู่นั้น กรรมการฟังเสียงทั้งหมดจะตั้งใจฟังเสียงโพนแล้วตัดสินให้โพนที่มีเสียงดังกว่าเป็นฝ่ายชนะ โดยถือเอาเสียงข้างมากของกรรมการเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน